วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นวัตกรรมการเรียนการสอน รูปแบบการสอนตามวัฎจักรการเรียนรู้หรือ 4 MAT


นวัตกรรมการเรียนการสอน รูปแบบการสอนตามวัฎจักรการเรียนรู้หรือ 4 MAT

ทฤษฏี/ หลักการ/ แนวคิดของรูปแบบ  (ทั้งนี้จะรวมทั้งความหมายและความสำคัญของนวัตกรรมตามรูปแบบไว้ด้วย)
            แม็คคาร์ธี (อ้างใน ศักดิ์ชัย นิรัญทวี และไพเราะ พุ่มมั่น , ๒๕๔๗ . ๗-๑๑) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนนี้ขึ้นจากแนวคิดของโคล์ป (Kolb)ซึ่งอธิบายว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของ ๒ มิติ คือการรับรู้ (perception) และกระบวนการจัดทำข้อมูล (processing) การรับรู้ของบุคคลมีสองช่องทาง คือผ่านประสบการที่เป็นรูปธรรม และผ่านทางความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรม ส่วนกระบวนการจัดการข้อมูลที่จะรับรู้นั้น มี ๒ ลักษณะเช่นเดียวกัน คือ การลงมือทดลองปฏิบัติ  และการสังเกตโดยใช้ความคิดอย่างไตร่ตรอง  เมื่อลากเส้นตรงของช่องทางการรับรู้ ๒ ช่องทาง และเส้นตรงของกระบวนการจัดกระทำข้อมูลเพื่อเกิดการเรียนรู้มาตัดกัน แล้วเขียนเป็นวงกลมจะเกิดพื้นที่เป็น  ๔ ส่วนของวงกลม  ซึ่งสามารถแทนลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ ๔ แบบ  คือ
แบบที่ ๑  เป็นผู้เรียนที่ถนัดจิตรนาการ เพราะมีการรับรู้ผ่านทางประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม  และใช้กระบวนการจัดกระทำข้อมูลด้วยการสังเกตอย่างไตร่ตรอง 
แบบที่ ๒ เป็นผู้เรียนที่ถนัดการวิเคราะห์  เพราะมีการรับรู้ผ่านประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม  และชอบใช้กระบวนการสังเกตอย่างไตร่ตรอง
แบบที่ ๓ เป็นผู้เรียนที่ถนัดใช้สามัญสำนึก  เพราะมีการรับรู้ผ่านทางความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรม  และชอบใช้กระบวนการลงมือทำ
แบบที่ ๔ เป็นผู้เรียนที่ถนัดในการปรับเปลี่ยน  เพราะมีการรับรู้ผ่านทางประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม  และชอบใช้กระบวนการลงมือปฏิบัติ  
แมคคาร์ธีและคณะ ได้นำความคิดของโคล์ป มาประกอบกับแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก  ทำให้เกิดเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้คำถามหลัก ๔ คำถาม คือ ทำไม   อะไร  อย่างไร  และถ้า  ซึ่งสามารถพัฒนาผู้เรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้แตกต่างกันทั้ง ๔ แบบให้สามารถใช้สมองทุกส่วนของตนในการพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่  ดังจะแสดงในภาพ วงกลมวัฎจักรการเรียนรู้หรือ 4 MAT ที่จะแสดงต่อไป

วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
            เพื่อช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้ใช้สมองทุกส่วน ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง

กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
            การเรียนการสอนตามวัฎจักรการเรียนรู้  4 MAT มีขั้นตอนดำเนินการ ๘ ขั้นตอน ดังนี้

            ขั้นตอนที่ ๑  การสร้างประสบการณ์  ผู้สอนเริ่มต้นจากการจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนให้เห็นคุณค่าของเรรื่องที่เรียนด้วยตนเอง  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมจึงต้องเรียนรู้เรื่องนี้
            ขั้นตอนที่ ๒   การวิเคราะห์ประสบการณ์  หรือสะท้อนความคิดจากประสบการณ์  ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักรู้ และยอมรับความสำคัญของเรื่องที่จะเรียน

            ขั้นตอนที่ ๓  การพัฒนาการประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอดหรือแนวคิด   เมื่อผู้เรียนเห็นคุณค่าของเรื่องที่จะเรียนแล้ว  ผู้สอนจึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความคิดรวบยอดขึ้นด้วยตนเอง

            ขั้นที่ ๔ การพัฒนาความรู้ความคิด  เมื่อผู้เรียนมีประสบการณ์และเกิดความคิดรวบยอดหรือแนวคิดพอสมควรแล้ว ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ความคิดของตนให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น   โดยการให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย  การเรียนรู้ในขั้นที่ ๓ และ ๔ นี้คือการตอบคำถามว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ อะไร

            ขั้นที่ ๕ การปฏิบัติตามแนวคิดที่ได้เรียนรู้   ในขั้นนี้ผู้สอนจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำความรู้ความคิดที่ได้รับมาทดลองปฏิบัติจริง และศึกษาผลที่เกิดขึ้น

            ขั้นที่  ๖  การสร้างสรรค์ชิ้นงานของตนเอง    จากการปฏิบัติตามแนวคิดที่ได้เรียนรู้ในขั้นที่แล้ว ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จุดเด่นจุดด้อยของแนวคิด  ความเข้าใจแนวคิดนั้นจะกระจ่างขึ้น  ในขั้นนี้ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถของตน  โดยการนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปใช้หรือปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง 

            ขั้นที่  ๗  การวิเคราะห์ผลงานและแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้   เมื่อผู้เรียนได้สร้างสรรค์ชิ้นงานของตนตามความถนัดแล้วผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงผลงานของตน  ชื่นชมกับความสำเร็จ และเรียนรู้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์  รวมทั้งรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อปรับปรุงงานของตนให้ดีขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

            ขั้นที่  ๘  การแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด  ขั้นนี้เป็นขั้นของการขยายขอบข่ายของความรู้โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดแก่กันและกัน  และร่วมกันอภิปรายเพื่อนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตจริงและอนาคต  คำถามหลักในการอภิปรายก็คือ  ถ้า....? ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดประเด็นใหม่ สำหรับผู้เรียนในการเริ่มต้นวัฎจักรการเรียนรู้ในเรื่องใหม่ต่อไป

ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนรู้ตามรูปแบบ

            ผู้เรียนจะสามารถสร้างความรู้ด้วยตัวเองในเรื่องที่เรียน  จะเกิดความรู้ความเข้าใจและนำความเข้าใจนั้นไปใช้ได้  และสามารถสร้างผลงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง  รวมทั้งได้พัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ อีกจำนวนมาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น