เด็กพิเศษดูแลด้วยความรัก พัฒนาด้วยความเข้าใจ
บทความวิชาการ
เรื่อง
: เด็กพิเศษดูแลด้วยความรัก พัฒนาด้วยความเข้าใจ
นาเสนอโดย
: นางทวีทรัพย์ ผลนัย
อ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์
สิริรัตน์เรขา. เด็กพิเศษ ดูแลด้วยความรัก พัฒนาด้วยความเข้าใจ. [Online] 2549
เด็กพิเศษ
หรือเรียกเต็มๆ ว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ
คือกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถพัฒนาความสามารถได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ด้วยวิธีการปกติตามธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูตามปกติ หรือการเรียนการสอนตามปกติทั่วไป
เนื่องจากข้อจำกัดบางประการที่มีอยู่ในตัวเด็ก ทางด้านร่างกาย สติปัญญา พฤติกรรม
อารมณ์ หรือสัมพันธภาพทางสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีวิธีการพิเศษ
เพิ่มเติมจากการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก
เพื่อช่วยให้เด็กมีศักยภาพเต็มตามที่มีอยู่ได้
มีหลายมุมมองทางความคิดเกี่ยวกับแนวทางการดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งไม่มีผิด ไม่มีถูก
เพียงแต่ต้องมีการทบทวนความคิดอย่างเข้าใจ
และพัฒนามุมมองของเราเองให้ถูกต้องตามที่เห็นว่าควรเป็นบางคนมองว่า “อย่าไปบังคับเด็กเลย สงสารเด็ก”
บางคนก็มองว่า
“ทำไมไม่ฝึกเด็กล่ะ
เดี๋ยวก็ทำอะไรไม่เป็นหรอก”
บางคนก็มองว่า
“เด็กก็ทำได้แค่นี้ จะไปเอาอะไรมากมาย”
บางคนก็มองว่า
“เดี๋ยวโตขึ้นก็ดีเอง
อย่าไปกังวลเกินเหตุ”
บางคนก็มองว่า
“ต้องทุ่มเทฝึกกระตุ้นเด็กให้เต็มที่เท่าที่มีแรงทำ”
แนวทางการดูแลเด็กพิเศษ
ไม่ว่าจะไปในทิศทางใดก็ตาม ถ้าเริ่มต้นจากการดูแลด้วยความรัก แล้วค่อยๆ
พัฒนาด้วยความเข้าใจ ก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางของการทำให้เด็กมีการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ไม่ยาก
การดูแลด้วยความรัก ก็คือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนมีอยู่เต็มเปี่ยมอยู่แล้ว
แต่ที่นำมาเน้นย้ำ เนื่องจากในความรักที่มีอยู่นี้ มักจะถูกบดบังด้วยความเครียด
ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ และความรู้สึกอื่นๆ
อีกมากมายในบางช่วงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆ
ขึ้นมาได้ในการดูแล แต่จำเป็นต้องหาวิธีจัดการความรู้สึกต่างๆ อย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับการพัฒนาด้วยความเข้าใจ ก็เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจาก
ขึ้นชื่อว่าเด็กพิเศษแล้วต้องมกระบวนการพัฒนาที่พิเศษ
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ หลักเบื้องต้นง่ายๆ ในการพัฒนา
คือ
“เด็กเป็นตัวตั้ง ครอบครัวเป็นตัวหาร
ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย”
“เด็กเป็นตัวตั้ง”
กล่าวคือ
ไม่มีสูตรสำเร็จรูปสำหรับการดูแลเด็กพิเศษทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกอายุ ควรเข้าใจธรรมชาติที่ว่า
เด็กแต่ละคนมีความเหมือนกัน และมีความแตกต่างกัน เด็กอาจมีความบกพร่องในบางด้าน
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในบางด้านเช่นกัน การมองแต่ความบกพร่องบางด้าน
และคอยแก้ไขความบกพร่องไปเรื่อยๆ ก็อาจถึงทางตันในที่สุด
ควรหันกลับมามองในด้านความสามารถของเด็กด้วยว่าเด็กมีความสามารถด้านใดบ้าง
เพื่อวางแผนการดูแล ให้การส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งสามารถช่วยชดเชยความบกพร่องที่มีอยู่ได้
ดังนั้นการดูแลต้องวางแผนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กมี
และสิ่งที่เด็กเป็น โดยวางแผนเฉพาะรายบุคคล ให้มีความเหมาะสมตามวัย
และตามพัฒนาการของเด็ก
“ครอบครัวเป็นตัวหาร” กล่าวคือ
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลเด็กพิเศษ และคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า
ถ้าครอบครัวไม่ดูแล แล้วจะมีใครดูแลได้ดีกว่าอีกเล่า แต่ในการดูแลนั้น
การมีความรักอยู่เต็มเปี่ยม อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าขาดความเข้าใจ การมีความรู้
มีเจตคติที่ถูกต้อง และมีทักษะ พัฒนาเทคนิควิธีให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
เป็นสิ่งที่ควรมีทั้งครอบครัว ต้องเน้นคำว่า “ ครอบครัว ” เพราะว่าไม่มีใครเก่งคนเดียว
ต้องให้ความไว้วางใจกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ครอบครัวเข้มแข็งคือพลังแห่งความสำเร็จ
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อย คือ มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนเกินไป
แม่ดูแลเด็กอย่างทุ่มเท ในขณะที่พ่อพยายามทำงานหนักขึ้น เพื่อจุนเจือครอบครัว
ในที่สุดก็เกิดช่องว่าง พ่อก็เริ่มไม่มีทักษะการดูแลเด็ก แม่ก็ไม่ไว้ใจให้พ่อดูแล
ช่องว่างก็มากขึ้น จนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในที่สุด การเริ่มต้นและพัฒนาที่ดี
คือการสุมหัวเข้าหากัน คุยกัน ไว้วางใจกัน และหารความรัก
ให้ทุกคนในครอบครัวมีโอกาสช่วยเหลือเด็กเท่าๆ กัน
“ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย”
ณ
วันนี้ ความก้าวหน้าทางวิชาการมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลใหม่ๆ
มีเพิ่มเติมตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ที่คนเดียวจะรู้ทุกอย่าง มีทักษะทุกด้าน
ตัวช่วยจึงมีความจำเป็น ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย จิตแพทย์เด็ก พยาบาล
นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด ครูการศึกษาพิเศษ
หรือวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นตัวช่วยที่สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษา
และสาธิตเทคนิควิธีต่างๆ ให้นำไปฝึกปฏิบัติต่อไปได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า
ผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวหลักอย่างเช่นครอบครัว
ฉะนั้นถ้าบทบาทผิดเพี้ยนไปจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญกลายเป็นตัวหลักขึ้นมา
จะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่จริง
เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เชี่ยวชาญจะรู้จัก
และเข้าใจเด็กได้ดีกว่าครอบครัวที่อยู่กับเด็กตลอด
เมื่อมองจุดสุดท้ายที่เด็กพิเศษควรจะเป็น
คือ พัฒนาเต็มตามศักยภาพที่เขามีอยู่ ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้น ณ วันนี้ ก็ไม่เป็นไร
เพราะวันหนึ่งต้องไปถึงแน่นอน ถ้ายังมีการดูแลด้วยความรักและพัฒนาด้วยความเข้าใจ
โดยยึดหลัก
“เด็กเป็นตัวตั้ง ครอบครัวเป็นตัวหาร
ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย”
จุดหมายปลายทางเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง
แต่ระหว่างทางที่ไปสู่จุดหมายนั้น มีสิ่งสวยงามให้ชื่นชมมากมาย
พัฒนาการของเด็กพิเศษแต่ละขั้น ก็คือสิ่งสวยงามที่น่าชื่นชม
การชื่นชมสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ คือ กำลังใจที่ดีที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น