วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เอ็ด เสียงอ่านที่ถูกลืม


เอ็ด เสียงอ่านที่ถูกลืม

            ทุกท่านที่สนใจในภาษาไทยและที่ไม่ได้สนใจในภาษาไทย เคยรู้สึกบ้างไหมครับว่า “เอ็ด” กำลังจะหายไป คำว่าเอ็ด เอ็ดเป็นคำที่ใช้ต่อท้ายเวลาเราอ่านตัวเลขต่าง ๆ ที่นับตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป และลงท้ายด้วยเลข ๑ เราจะอ่านตัวเลขนั้น ๆ ว่าเอ็ด ไม่อ่านว่าหนึ่ง แต่ไม่นานมานี้ ผู้เขียนรู้สึกว่า คนไทยปัจจุบันมักจะใช้คำว่า “ หนึ่ง” แทนคำว่า “เอ็ด” ไปจนหมด เห็นจะมีแต่คำเดียวเท่านั้นที่ยังคงมีดังเดิมอย่างโบราณก็คำว่า “จังหวัดร้อยเอ็ด” นั้นเอง 
อะไรเป็นสาเหตุที่ “เอ็ด” กำลังหายตัวไป
            หากจะให้ผู้เขียนวิเคราะห์ในสายตาของครูที่สอนภาษาไทย แต่ไม่ได้จบมาอย่าง ๆ จริง ๆ จัง ๆ ล่ะก็ คงอนุมานได้จากสองสาเหตุใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ ๑) การลอกเลียนแบบ ๒) คือการเปลี่ยนแปลงไปทางภาษา
ในหัวข้อที่ ๑ นั้นคือการลอกเลียนแบบ   เป็นวิสัยธรรมดาของโลกมนุษย์อยู่แล้วว่า ชอบลอกกันมากกว่าคิดเองทำเอง เพราะง่ายและสะดวกกว่า “เอ็ด” เป็นคำที่ถูกลืมแล้วในปัจจุบัน (หากท่าไม่เชื่อลองไปเซเว่นหรือบอกชื่อซอยที่ลงท้ายด้วยเลข ๑ สิครับ ถ้าพูดว่าเอ็ด บางคนจะไม่รู้และรู้สึกตลกเสียด้วย  ) เพราะว่ามีเสียงไม่ไพเราะ หรือไม่ก็เพราะคุ้นชินกับคำว่า “หนึ่ง”มากกว่า “เอ็ด” มีสถานีวิทยุคลื่นหนึ่งที่เป็นคลื่นทางทหาร เวลาประกาศเวลา จะไม่ลงท้ายด้วย “เอ็ด” จะกลายเป็น “หนึ่ง” เช่น ขณะนี้เวลา สิบหนึ่งนาฬิกา สิบหนึ่งนาที เป็นต้น แหม ฟังดูก็เปร่ง ๆ อยู่ไหมครับ แต่ก็อย่างนั้นล่ะครับ เพราะก็มีเยาวชนลูกหลานตัวเล็ก ๆ ของพวกเราก็เห็นดีเห็นงาม ลอกเลียนแบบมาใช้เพราะคิดว่าโก้เก๋อะไรทำนองนี้
            ผู้เขียนก็กลับมานั่งคิดว่า เอ๋......ทำไมกันนะทำไมจึงใช้คำว่าหนึ่งแทนเอ็ด ก็มาถึงบางอ่อ ตรงที่ว่า เวลาทหารเขาสื่อสารจะใช้คำว่าเอ็ดไม่ได้เพราะมันเป็นคำที่มีสำเนียงหรือการออกเสียงเหมือนเจ็ด ดังนั้นเวลาที่พูด ๑๑ ก็พูดว่าสิบหนึ่ง ไม่ใช่สิบเอ็ด ตามที่เรา ๆ ท่าน ๆ ผู้รักษ์ภาษาไทยรู้กัน จะไปโทษท่านที่เป็นต้นฉบับให้ลอกเลียนแบบกันก็หาใช่เพราะพวกเรากันนี่ล่ะที่ไม่อธิบาย หรือไม่ทำความเข้าใจและบอกกล่าวแก่ผู้ที่อายุน้อยกว่า หรืออ่อนประสบการณ์กว่า ให้เข้าใจว่าควรใช้คำไหน   
            ในหัวข้อที่สอง ที่ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปของภาษา ผู้เขียนขอเล่าอย่างนี้ล่ะกันว่า ผู้เขียนนี้เป็นครูต้องไปสอนนักเรียนที่ลาดพร้าว ๑๐๑ อยู่ตลอดทุกสัปดาห์ ทุกครั้งที่ขึ้นรถจักรยานยนต์ก็ประสงค์จะใช้คำว่า ไปปากซอยร้อยเอ็ดเหมือนกัน แต่กลัวว่า พลขับจะตกใจว่าให้ไปส่งที่ร้อยเอ็ด ก็เลยงดเสียไม่พูดออกไป ทีนี่ประชาชนทั่ว ๆ ไปก็ใช้กันสะบั่นหันแหลก ไม่สนใจแล้ว ว่าจะร้อยหนึ่งหรือร้อยเอ็ด ไป ๆ มา ๆ ก็สรุปตกลงทางภาษาเข้าใจกันไปว่า ลาดพร้าว ๑๐๑ อ่านหรือพูดว่า ลาดพร้าวร้อยหนึ่งไปโดยปริยาย   การเปลี่ยนแปลงไปทางภาษาเมื่อถึงเวลาหนึ่ง อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานของภาษาก็ได้ว่าจะต้องพูดนี่นะ โน้นนะ เหมือนกับในอดีตที่ครูภาษาไทยจะเข้มงวดมากกับคำว่า “ มกราคม” ว่าต้องอ่าน “มะกะราคม”มิใช่”มกกะราคม” แต่ด้วยความที่เคยชินปาก ราชบัณฑิตฯท่านก็เลยจัดเก็บรวบรวมลงไปในพจนานุกรม ว่า คำว่า “มกราคม” อ่านได้สองอย่างคือ ตามหลัก อ่านว่า มะ ส่วนตามภาษาปากอ่านว่า มก แล้วแต่ผู้ใช้ แต่ผู้เขียนขอให้ท่านที่ใช้ภาษาไทยทุกท่านทราบว่า หากเป็นงานการที่เป็นพิธีการ ควรใช้คำที่เป็นคำหลัก เพื่อแสดงว่าเราเป็นผู้รู้ และทำให้ผู้ที่รู้กว่าเราเห้นว่าเรามีความรู้ด้านภาษา เพราะอย่างผู้เขียนนี่ แม้จะอนุโลมต่าง ๆ นานาแล้วว่า จะอ่านอย่างไรก็ชังประไร มิใช่ปากเรา ก็อดจะถอนหายใจ ไม่ได้ว่า มกหรือจ้ะพ่อคุณ !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น